Nisi Filter V5 กับการหัดใช้ฟิลเตอร์ครั้งแรกที่ภูเก็ต โดยคุณ DozzDIY
ทางเว็บไซต์ คาเมร่า เมคเกอร์ ขอนำบทความรีวิวสินค้ามาเผยแพร่เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษา
ขอขอบคุณเจ้าของกระทู้:คุณ DozzDIY สมาชิกหมายเลข 1331250
สามารถดูรีวิวต้นฉบับได้ที่: https://pantip.com/topic/36533377
สวัสดีครับ _/|\_
ก่อนอื่นผมขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นคนที่ถ่ายภาพแนวภูมิทัศน์ได้ดีนักเพราะชีวิตของการถ่ายภาพโดยส่วนใหญ่มักเป็นภาพถ่ายสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น สิ่งของ, อาหารหรือเรื่องราวที่พบเจอได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ไม่พกขาตั้งไม่มีฟิลเตอร์เป็นปกติสามัญชน
อยู่มาวันหนึ่งนึกเปรี้ยวปากอยากเขียนสิ่งที่ตัวเองใช้ลงเว็บ อย่างเลนส์ Samyang 12mm f/2.0 NCS CS ในสมัยที่ยังใช้ FujiFilm FinePix X-Pro1 (สมัยนี้ก็ยังใช้นะ) ก็ไม่นึกว่าคนจะสอบถามมาขนาดนั้น เพราะไม่ได้มีอะไรที่แสดงถึงความรู้ทางวิชาการเลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งทางคุณโอ๋แห่ง Camera Maker ที่เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กได้แอดมาสักพักใหญ่อยากให้ลองเอาชุดฟิลเตอร์ Nisi V5 มาใช้ จึงเป็น SR แต่ส่วนที่เหลือก็โซโล่เองหมดตั้งแต่เดินทางไปภูเก็ตจากพิษณุโลกแบบไปกลับ 2 เที่ยวบินก็หมดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว 5555+ ก็เลยเป็น CR ไปด้วยในที่สุด
ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายต่อจากนั้นอีกนะ
เป็นการไปภูเก็ตครั้งแรกในชีวิต ใช้ ND Filter ครั้งแรกในชีวิต
เลยค่อนข้างงงกับชีวิตพอสมควร
ความเด๋อๆด๋าก็เริ่มขึ้นนับจากนี้นี่ล่ะครับ Facepalm
ในฐานะตัวแทน DozzDIY ขอขอบคุณ Camera Maker ที่มอบโอกาสครั้งนี้ให้ เป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ฟิลเตอร์แบบจริงๆจังๆด้วย
อาจจะทำหน้าที่คนรีวิวได้ไม่ดีนัก (อีกอย่างก็เขียนไปในเว็บหมดแล้ว)
ในพันทิปนี้ขอแบบไม่ต้องซีเรียสมากก็แล้วกันนะ
FujiFilm FinePix X-Pro1 + Samyang 12mm f/2.0 NCS CS
Nisi 100x100mm Nano IR – ND1000
ปล. สำหรับผู้ที่อยากติดตามอีกเวอร์ชั่นของเนื้อหาทำนองนี้ ลองค้นในเกิ้ลว่า dozzdiy เอาเองนะครับ ในบทความนี้จะไม่มีลิงก์คับ
ความรู้เกี่ยวกับฟิลเตอร์เบื้องต้น
ตอนได้ฟิลเตอร์มายอมรับตรงๆว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลยแล้ว คิดอยู่ตลอดว่าจะทำได้ไหม แถมมาภูเก็ตครั้งนี้ยังไม่รู้จะไปถ่ายที่ไหนอีกรู้แต่ว่ากุต้องไปทะเลสักแห่ง (555)

ระหว่างนั้นเลยพยายามที่จะหาความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเบื้องต้น ว่าสิ่งที่เขาให้มานี่มันใส่เข้ากับ Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art ได้ไหม เส้นผ่านศูนย์กลางหน้าเลนส์ดูยังไง แล้วถ้าจะถอดไปใช้กับกล้องอีกตัวจะต้องทำยังไง
เกี่ยวกับฟิลเตอร์ และชุดฟิลเตอร์ของ Nisi ที่ได้มาใช้
อุปกรณ์ทั้งหมดมาในแพ็กเกจกล่องและซองหนัง คุณโอ๋บอกว่า Nisi V5 Kit คือกล่องหนังที่มีตัวยึด, วงแหวนทดระยะ แล้วก็ตัวเกลียวอะไรต่างๆอีก 4 ขนาด คือ 67มม, 72มม, 77มม และ 82มม ความรู้สึกแรกคือกล่องสวยงามมากปกติชอบเครื่องหนังอยู่แล้ว ยังสงสัยว่าฟิลเตอร์เจ้าอื่นเขาจะอะไรแบบนี้ไหมเนี่ย แต่ละอย่างก็เล่นห่อมาอยากดีจนไม่อยากจะแกะเลย กลัวใส่เข้าไปไม่เหมือนเดิม

เอาเข้าจริงผมลองนำชื่อพวกฟิลเตอร์ไปค้นหาราคาสินค้า (เผื่อทำพังจะได้รู้ว่าอะไรเท่าไหร่) ในเพจ Nisi Thailand ก็รู้ว่าราคาไม่ได้แพงมากอย่างที่คิดแฮะ เรียกว่าอยู่ในระดับที่รับได้จนถึงราคากลางๆ ยังติดตลกตรงที่ว่าอาจจะแพงพวกเครื่องหนังนี้ก็ได้
ฟิลเตอร์ที่ได้มามีสามแบบดังต่อไปนี้ครับ

1. ฟิลเตอร์ลดแสงแบบเต็มแผ่น (Natural Density Filter)
ฟิลเตอร์สีดำแบบเต็มแผ่น (Natural Density Filter หรือเรียกสั้นๆว่า ND Filter) มีหน้าที่ลดทอนกำลังของแสงให้วิ่งเข้าสู่เซ็นเซอร์ในปริมาณที่น้อยลง ไม่ว่าสภาพแสงในขณะนั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ฟิลเตอร์แบบตัดแสงก็มีอยู่หลายระดับของการตัดแสงด้วยกัน จำง่ายๆว่ายิ่งเลขมากยิ่งตัดได้มาก อย่างที่ผู้สอนได้มานี้สามารถตัดแสงลงได้ถึง 10 สต็อป ช่วยลดปริมาณแสงลงในเวลาที่มีแสงจ้าได้มาก ทำให้สร้างสรรค์ภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ดีเยี่ยมในเวลากลางวัน
2.ฟิลเตอร์ลดแสงแบบครึ่งซีกขอบเข้ม (Graduated Natural-Density Hard Edge Filter)
ฟิลเตอร์แบบลดแสงนอกจากจะมีแบบเต็มแผ่นก็ยังมีแบบไม่เต็มแผ่นอีกด้วย ซึ่งฟิลเตอร์ลดแสงลักษณะดังกล่าวนี้เป็นแบบไล่ระดับน้ำหนักความแรงของการลดแสงลงในแผ่นๆเดียว เรียกว่า Graduated Density Filter มีสองแบบด้วยกันคือฟิลเตอร์ลดแสงแบบขอบนุ่ม (Soft Edge) และฟิลเตอร์ลดแสงแบบขอบเข้ม (Hard Edge) ฟิลเตอร์ที่ผู้สอนได้มาเป็นอย่างหลังนะครับ ข้อเสียก็มีอยู่บ้างตรงที่ขอบเวลาเอามาทาบหน้าเลนส์จะเกิดรอยค่อนข้างชัด
3.ฟิลเตอร์โพลาไรซ์แบบวงกลมสำหรับการตัดแสงสะท้อน (Circular Polarizing Filter)
ฟิลเตอร์โพลาไรซ์แบบวงกลมวิธีการใช้หลังจากใส่เข้ากับช่องใส่ฟิลเตอร์วงกลมของตัวยึดจาก Nisi แล้วก็สามารถหมุนที่แกนยึดเพื่อหาองศาการตัดแสงสะท้อนได้ ฟิลเตอร์โพลาไรซ์มีประโยชน์หลายอย่างในการถ่ายภาพเช่น ช่วยลดอาการวูบวาบของแสงที่ผิวน้ำ, เพิ่มความเข้มของสีบนท้องฟ้า เรียกได้ว่าเป็นตัวกำหนดสมดุลของแสงภายในภาพขอเพียงหันไปในทิศทางที่ถูกต้องและหมุนให้ได้องศาเท่านั้น
ประสบการณ์ในการใช้งานฟิลเตอร์ของ Nisi กับทริปภูเก็ตที่ผ่านมา
ถ้าไม่ชำนาญในการติดตั้ง จะเสียเวลาในการถ่ายภาพไปด้วย >>
การใช้งานในช่วงแรกค่อนข้างทุลักทุเลเพราะสับสนว่าวงแหวนเอาสวมตรงไหน สวมไม่พอดีบ้างหรือไม่ก็สวมผิดด้านทำให้เสียเวลาพอสมควร อย่างตอนที่กำลังรอให้แสงนุ่มลงจากพระอาทิตย์ที่กำลังตก อาการแบบนี้คงเป็นปกติของผู้ใช้งานครั้งแรก

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าช่วงฤดูฝนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย
อย่างน้อยๆ เขาจะช่วยดูทิศทางลมและกระแสน้ำขึ้นลง รวมไปถึงช่วยเฝ้าระวังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
ถ้านี่คือครั้งแรก หาคนที่มีประสบการณ์ติดตัวไปด้วยดีที่สุดครับ
สีจากฟิลเตอร์นั้นเพี้ยน แต่เพี้ยนน้อยมากและค่อนไปในโทนร้อน >>
อาการเพี้ยนสีของฟิลเตอร์ Nisi ไปในโทนร้อนแก้ไขได้ไม่ยากด้วยการบันทึกเป็นไฟล์ RAW ซะ แล้วก็ปรับ WB มาในทิศทางที่เย็นขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็นอันใช้ได้

ชุดตัวยึดฟิลเตอร์ใส่ฟิลเตอร์แผ่นซ้อนได้สามแผ่น และแบบวงกลม 1 อัน >>
เรียกได้ว่าตัวยึดตัวเดียวนั้นเผื่อช่องสำหรับอุปกรณ์แผ่นฟิลเตอร์มาให้เพรียบเลย ทีนี้จะใช้ฟิลเตอร์ C-PL นำไปก่อนแล้วตัดแสงด้วย ND Filter ทำได้สบายๆ

เนื่องจากเป็น Optical Glass จึงมีโอกาศแตก >>
เพราะฟิลเตอร์แบบแผ่นนั้นเป็นชิ้นแก้ว การที่ต้องยัดวัสดุแบบนี้ลงในช่องที่มีความแข็งฝืดย่อมสร้างความไม่สบายใจให้ผู้ใช้พอสมควรเนื่องจากกังวลว่าใช้ไปใช้มาอาจจะแตกได้ (ดูจากสภาพหลุดมือก็ไม่น่ารอดแล้ว) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังให้ดีสำหรับผู้ใช้งานฟิลเตอร์ Nisi
ใส่ฟิลเตอร์ทุกครั้งก็เสียวทุกครั้ง
ไอเดียง่ายๆกับการถ่ายภาพโดยสร้างสรรค์จากฟิลเตอร์
เทคนิคที่ 1 : ซ้อนภาพคนท่ามกลางคลื่นซัดของทะเล
ผมเองก็รู้สึกเบื่อๆกับการที่เอาฟิลเตอร์มาทดสอบแล้วก็ถ่ายน้ำไหล เพราะใครๆก็ทำกันหมดแล้วหรือแม้กระทั่งไอเดียของภาพถ่ายหน้าปกนี้เช่นเดียวกัน วิธีการนั้นง่ายมากเพียงแค่ถ่ายช็อตแรกโดยให้แบบยืนหันหลังบนโขดหินก่อนที่คลื่นจะซัด 1 ช็อต จากนั้นรีบวิ่งกลับเข้ามาเลยแล้วถ่ายลากชัตเตอร์อีก 1 ช็อต ด้วยมุมเดียวกัน ค่า WB แบบเดียวกัน เวลาเอาไปประกบบน Photoshop ก็ผสานระนาบอีกทีด้วยวิธี Auto-Align เพื่อความชัวร์
จากนั้นก็เลือกเอาเฉพาะบริเวณตัวคนที่ยืนบนหิน เป็นอันจบ

เทคนิคที่ 2 : ฟิลเตอร์ครึ่งซีกน่ะ ถือมือก็ได้
ฟิลเตอร์ครึ่งซีกนั้นลดแสงในเวลากลางวันได้ไม่เยอะเท่าไหร่ อีกทั้งถ้าแดดแรงมากความไวชัตเตอร์ก็ไม่ได้ลดมากขนาดถือมือไม่ได้ สิ่งที่ทำขอแค่ประกบหน้าเลนส์ให้สนิทก็พอ ลดเวลาที่เสียไปกับการประกอบชุดฟิลเตอร์ไปได้เยอะเลย

เทคนิคที่ 3 : คลื่นในฤดูฝนนั้นหนักและแรงมาก พิจารณาความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวด้วย
ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้สำหรับการถ่ายภาพคลื่นทะเลตอนซัดมายังโขดหินโดยให้เกิดริ้วนั้นมักจะอยู่ที่ 1/4-1/6 วินาที ถ้าคลื่นไม่แรงอาจจะช้าลงได้กว่านี้ และยังต้องพิจารณาลูกคลื่นที่สอง (คลื่นสมทบ) ซึ่งจะแรงกว่าลูกแรกเวลาเข้าฝั่ง เวลานั้นจะได้ภาพที่ดีกว่าด้วย
ภาพที่ได้ก็จะเป็นคลื่นแบบไม่นุ่มไปทั้งทะเล สำหรับการแสดงเส้นสายของน้ำ
ด้านล่างนี้เป็นภาพเล็กๆน้อยๆพร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมจากการใช้ฟิลเตอร์ Nisi พร้อมฟิลเตอร์แผ่นดังที่ได้กล่าวไป มีภาพจากพังงามานิดหน่อยตรงสะพานไม้หาดเขาปิหลาย อันที่จริงมีภาพเยอะมากแต่ไม่ได้ใช้ฟิลเตอร์เลยไม่เอามารวม ใครสนใจก็ไปดูเว็บหรือเพจเอาครับ

FujiFilm FinePix X-Pro1 + Samyang 12mm f/2.0 NCS CS
Nisi 100x100mm Nano IR – ND1000

FujiFilm FinePix X-Pro1 + Samyang 12mm f/2.0 NCS CS
Nisi 100x100mm Nano IR – ND1000

FujiFilm FinePix X-Pro1 + Samyang 12mm f/2.0 NCS CS
Nisi 100x100mm Nano IR – ND1000
—————————————-
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทาง Camera Maker สำหรับการให้ทดลองใช้ชุดฟิลเตอร์ Nisi V5 และฟิลเตอร์แผ่นในทริปภูเก็ตที่ผ่านมานี้ด้วยครับ _/|\_