รีวิวเลนส์ Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III จะเบลอให้สุดต้องหยุดที่ 0.95

รีวิวเลนส์ Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III จะเบลอให้สุดต้องหยุดที่ 0.95

โบเก้มาสเตอร์ตัวใหม่ของกล้อง Mirrorless FullFrame Sony FE, Canon RF และ Nikon Z mount

สวัสดีครับ เรา @torcnn เอง 😃
เมื่อพูดถึงการเบลอหลังด้วยขนาดรูรับแสง คนเล่นกล้องทั่วไปมักจะเคยชินกับค่า f1.8, f1.4 ซึ่งเป็นขนาดรูรับแสงที่นิยมกันมากที่สุด แต่คนที่รักการเสพหลังเบลอมากๆ ค่า f เท่านี้อาจยังไม่สะใจมากพอ เลยเริ่มมีเลนส์ที่มีค่ารูรับแสง f1.2 หรือ f0.95 ผลิตออกมา แต่ก็มักมีราคาแพงเกินเอื้อมระดับเป็นแสนๆบาท แล้วถ้าเราอยากเล่นเลนส์ที่เบลอหลังเยอะๆแต่ขอแบบราคาเอื้อมถึงอะมีมั้ย? มีครับ จำชื่อนี้ไว้ “Zhong Yi Optics” ค่ายนี้เป็นค่ายที่ผลิตเลนส์มือหมุนหลังละลายออกมาตอบโจทย์นี้อยู่เสมอ ภายใต้ชื่อแบรนด์ที่หลายๆคนอาจคุ้นเคยกันดี คือ Mitakon 

ขอขอบคุณ Camera Maker ตัวแทนจำหน่ายเลนส์ Mitakon ในประเทศไทยที่ให้เรายืมเลนส์ตัวนี้มาทดสอบครับ

Background

Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III เป็นเลนส์รุ่นที่3ของซีรีส์นี้แล้ว ผลิตออกมาทั้งหมด 3 Mount ได้แก่
1. Sony FE Mount (A7, A9)
2. Canon RF Mount (EOS R, EOS RP)
3. Nikon Z Mount
เม้าท์ที่เราได้รับมาทดสอบเป็นเม้าท์ Sony FE นะครับ

เลนส์ตัวนี้มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 50cm และมีกลีบรูรับแสงทั้งหมด 11 ชิ้น

สัมผัสแรก

แกะกล่องออกมาจับครั้งแรกรู้สึกได้ทันทีว่าตัวเลนส์ Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III มีน้ำหนักพอสมควร โดยมีน้ำหนักถึง 720 กรัม วัสดุภายนอกดูเป็นโลหะที่จับแล้วให้ความรู้สึกทนทาน บอดี้เลนส์สีดำเงิน รอบ Focus Ring จะสังเกตได้ชัดเจนว่ามีตะปูขันเกลียวเอาไว้ บางคนเห็นอาจจะรู้สึกขัดใจนิดนึง

มีรายละเอียดสเกลบอกระยะโฟกัส วงแหวนปรับรูรับแสงสามารถหมุนได้ต่อเนื่องโดยไม่มีล็อกเป็น Step เค้ามี Hood มาให้ด้วยนะ ติดแล้วหน้าตาเป็นแบบนี้

ส่วนนี่คือฝาด้านหน้าเลนส์ครับ ไม่ได้เขียนว่า Mitakon แต่เขียนชื่อบริษัท Zhong Yi Optics ไว้แทน

บริเวณขอบหน้าเลนส์เขียนว่า Zhong Yi Speedmaster หน้าเลนส์มีขนาด 67mm

ช่วง 50mm

นี่เป็นช่วงยอดฮิตของการถ่าย Portrait อยู่แล้วครับ เนื่องจากมันไม่ได้จำเป็นต้องถอยหลังเยอะ ใช้งานสะดวก นอกจากนี้ Perspective ของช่วงเลนส์ 50mm คือมันไม่ดึงพื้นหลังเข้ามาใกล้ตัวแบบมากจนเกินไป เรายังสามารถเห็นยอดภูเขา ยอดตึก ทำให้นางแบบดูตัวเล็กเมื่อเทียบกับทัศนียภาพโดยรอบ ขนาดใบหน้าและลำตัวไม่กว้างมากเมื่อเทียบกับการถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้

พูดง่ายๆคือ นางแบบส่วนใหญ่จะรอด

f0.95 ละลายได้มากแค่ไหน

ความสามารถในการละลายหลังของ f0.95 เป็นอะไรที่แตกต่างจาก f1.8 ที่เค้าใช้กันหลายขุมมากครับ ตัวแบบของเราเด้งออกมาจากพื้นหลังแบบชัดเจน ยิ่งถ่ายใกล้ๆนี่ไม่มีทางรู้เลยว่าถ่ายที่ไหน ถ่ายไกลๆก็ยังเบลอหลังได้เยอะมาก ไฟบางดวงเล็กจิ๋วเดียวพอใช้เลนส์ตัวนี้ถ่ายปุ๊บออกมาใหญ่เท่าโอ่ง 😝

นี่คือเลนส์ที่วัดฝีมือของผู้ถ่ายของจริง เชื่อพี่ พี่พลาดมาเยอะ 5555 จะจมูดชัด ตาเบลอ ปากชัด หูเบลอ หรือไม่มีอะไรชัดเลย อันนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทั้งนั้น

การโฟกัส

Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III เป็นเลนส์ Manual Focus ต้องโฟกัสด้วยการหมุนด้วยมือ และเนื่องจากจุดโฟกัสของ f0.95 มันบางมากๆ มือใหม่มือเก่าก็วืดได้หมด ดังนั้นเพื่อให้โฟกัสได้อย่างแม่นยำ เราแนะนำว่าทุกครั้งที่ถ่าย

– สำหรับ Sony ให้ใช้ฟังก์ชั่น Focus Magnifier ไม่แนะนำให้ใช้ Focus Peaking
– สำหรับ Canon ให้ใช้ใช้ฟังก์ชั่น Focus Guide ไม่แนะนำให้ใช้ MF Peaking
– สำหรับ Nikon ให้ใช้ฟังก์ชั่น Zoom (ใช้ Magnification สัก 100%)

พยายามฝึกหมุนวงแหวนโฟกัสให้ชิน เลนส์ตัวนี้ต้องใช้เวลาในการฝึกให้เข้ามือ อย่าเพิ่งท้อแท้ไปซะก่อน ขอเน้นย้ำตัวโตๆว่า ที่ f0.95 มันคือความยากอีกระดับ อย่าวางใจกับฟังก์ชั่น Peaking ของกล้องมากจนเกินไป เจ็บกันมาเยอะครับ

รูรับแสง

การปรับรูรับแสงแต่ละขนาดสามารถหมุนวงแหวนตัวบนได้ โดยวงแหวนจะไม่ใช่แบบ Step แต่สามารถหมุนฟรี ไม่มีเสียงรบกวน ทำให้สามารถใช้เลนส์นี้กับงานวิดีโอได้ ข้อควรระวังคือบางครั้งนิ้วอาจบังเอิญไปโดนวงแหวนและทำให้ค่ารูรับแสงเปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจ

จากภาพให้เน้นดูฉากหลังนะครับ จะสังเกตได้เลยว่า f0.95 มันเบลอหลังเยอะกว่า f1.4 และ f2 ชัดเจน ละลายยับ เละเป็นโจ๊ก ถ้าไปถ่ายในที่ที่คนเยอะ พื้นหลังรก บอกเลยว่า 0.95 นี่หมดห่วง ตัดปัญหาเหล่านั้นทิ้งไปหมด สนแค่ตัวแบบพอ


f0.95 – Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III


f1.4 – Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III


f2.0 – Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III


f2.8 – Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III


f4.0 – Mitakon Speedmaster 50mm F0.95 III

ความคม

ก่อนอื่นเลย Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III เป็นเลนส์สาย Art มากกว่าสาย Performance เอาไว้ถ่ายเน้นสนุก เสพความมันของการเบลอหลังน่ะนะ ดังนั้นอย่าไปให้น้ำหนักมากในหัวข้อนี้

ความคมของภาพที่ f0.95 คือไม่ได้คมปรี๊ด แต่ยังให้รายละเอียดบริเวณกลางภาพได้ดี(ถ้าโฟกัสเข้า) ยิ่งออกไปบริเวณขอบภาพรายละเอียดก็จะลดหลั่นลงไป


แต่เมื่อเราลองปรับรูรับแสงไปที่ f1.4 หรือ f2.0 ภาพจะให้ความคมที่สูงขึ้นมาก เลนส์ตัวนี้จึงไม่ได้ถูกจำกัดแค่ไว้สำหรับถ่ายเล่นเพียงอย่างเดียว แต่ในบางงาน บางโอกาสก็สามารถรองรับการทำงานที่มีความซีเรียสมากขึ้นได้


ยิ่งหรี่ขนาดรูรับแสงลง รายละเอียดบริเวณขอบภาพก็จะคมชัดขึ้น

ความคลาดสี

Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III มีชิ้นแก้ว Extra-Low Dispersion 4 ชิ้น ซึ่งช่วยลดความคลาดสี(ขอบม่วง ขอบเขียว) แต่เนื่องจากที่ f0.95 จะทำให้มีแสงเข้ามาในเลนส์เยอะมากๆ มันเลยยังคงมีความคลาดสีให้เห็นอยู่ปริมาณหนึ่ง


ถ้าเราไม่ได้ถ่ายในสภาพที่แสงจ้ามากๆ ก็ไม่ได้มีขอบม่วงขอบเขียวเยอะระดับรบกวนภาพรวมของภาพ จิ้มในโปรแกรมเดี๋ยวก็หาย แต่ถ้าดื้อจับกล้องถ่ายประจันหน้ากับแสงอาทิตย์ อันนี้ก็เลี่ยงไม่ได้ครับ

ราคา

Mitakon 50mm f0.95 version 3 ราคา 25,900 บาท เป็น f0.95 ที่ราคายังเอื้อมถึง (ซื้อได้ที่ Camera Maker นะครับ 😄)

สรุป

เลนส์ Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III เป็นเลนส์ที่เบลอหลังได้สะใจมากๆ มันไม่ใช่เลนส์ที่มาแทน 50mm ตัวเดิมที่มีอยู่ของเรา แต่เป็นส่วนต่อขยายให้ผลงานเราดูมีอะไรมากขึ้น เป็นเลนส์สาย Art โดยแท้ที่เน้นสร้างความแปลกใหม่ให้กับผลงาน ออกจากความจำเจ เหมาะกับคนที่ต้องการจะเสพ “ความเบลอระดับ f0.95” แบบชีวิตนี้ขอสัมผัสสักครั้ง มันไม่เหมาะกับคนที่ซื้อมาแล้วกะจะหรี่รูรับแสงลงเพื่อใช้ f1.4 หรือ f2.0 ตลอดเวลา

มันก็ใช่ ถ้าเราหรี่ขนาดรูรับแสงลงเราจะได้ภาพที่คมขึ้น แต่คนเราคงไม่ซื้อรถแรงๆมาเพื่อขับความเร็ว 60 km/hr กันใช่มั้ยล่ะครับ

เราจะสรุปข้อดีและข้อสังเกตที่เราพบ เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจนะ

ข้อดี

  1. ความสะใจเป็นที่1 ฟินอะ เบลอหลังสุดยอด เบลอได้ในระดับที่น้อยคนจะได้สัมผัส ตัวแบบดูโดดเด่นออกมาจากเฟรม แม้จะถอยหลังก็ตาม
  2. ช่วง 50mm ให้ Perspective ที่ไม่ดึงพื้นหลังมาใกล้เกินไป ถ้าถอยหน่อยก็ยังพอเห็นบรรยากาศโดยรวม นางแบบดูตัวเล็ก
  3. ช่วง 50mm เป็นช่วงที่ใช้งานสะดวก ลุกเดินเข้าออกง่าย
  4. f0.95 แสงเข้ามาได้โคตรเยอะ ถ่ายกลางคืนสบายสุดๆ
  5. วงแหวนปรับรูรับแสงสามารถหมุนได้ฟรี ไม่มีสเต็ป ไม่มีเสียงรบกวนเมื่อหมุนปรับ สามารถใช้กับงานวิดีโอได้
  6. รุ่นนี้มี Mount สำหรับกล้องยอดนิยมในปัจจุบันอย่าง Sony FE, Canon RF และ Nikon Z แล้ว ไม่ต้องต่อ Adapter ให้วุ่นวาย

ข้อสังเกต

  1. ค่อนข้างหนัก
  2. ต้องใช้ความอดทนและความชำนาญในการโฟกัสให้เข้า ควรเลือกใช้ฟังก์ชั่นช่วย Manual Focus ให้ถูกต้อง เนื่องจากที่ f0.95 ให้จุดโฟกัสที่บางเฉียบมาก
  3. มีความคลาดสีให้เห็น อาจต้องระมัดระวังในการถ่ายในที่ที่แสงเยอะๆ
  4. ความหลากหลายของการใช้งานไม่มากนัก เหมาะสำหรับงาน Portrait เป็นหลัก
  5. สำหรับสายภาพนิ่งอย่างเรา อยากให้เค้าทำเลนส์เวอร์ชั่นที่มี Step รูรับแสงมากๆ เพราะบางทีนิ้วไปโดนวงแหวน ทำให้ค่ารูรับแสงเปลี่ยนโดยไม่ตั้งใจ

 

เท่านี้ครับกับรีวิว Mitakon Speedmaster 50mm f0.95 III สายโบเก้ทั้งหลายน่าจะชอบกันเป็นพิเศษ หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่บริษัท Camera Maker ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย Mitakon Lens อย่างเป็นทางการในไทยครับ 😁

ไว้เจอกันใหม่บทความหน้านะครับ บ๊ายบาย

====================================

ทางบริษัท Camera Maker ขอขอบพระคุณเจ้าของบทความ : คุณต่อ ชานนท์
ที่มาบทความ : https://medium.com/torcnn/mitakon50mm095-c2b04c4f1ed4

Camera Maker ตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่าย Mitakon Lens แต่เพียงผู้เดียวในไทย
Line ID : @cameramaker

 

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from Camera Maker

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Main Menu