Site icon Camera Maker

ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ LANDSCAPE – EP.8 เมื่อไหร่หรือสถานการณ์ไหน ที่ควรจะต้องใช้ฟิลเตอร์แผ่น

เมื่อไหร่หรือสถานการณ์ไหน ที่ควรจะต้องใช้ฟิลเตอร์แผ่น

ในการถ่ายภาพ Landscape หลายๆท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า เมื่อไหร่หรือสถานการณ์ไหน ที่เราควรจะต้องใช้ฟิลเตอร์กัน วันนี้เรามีคำแนะนำสำหรับคนที่เริ่มต้นหัดถ่ายแลนด์กันนะครับ

โดยปกติเราจะใช้ฟิลเตอร์ใน 2 กรณีก็คือ

1. ใช้ฟิลเตอร์แก้ปัญหาเรื่องความเปรียบต่างของแสงในรูปภาพ

หลายโอกาสที่เมื่อเราถ่ายภาพแล้วเกิดความเปรียบต่างของแสงสูง เช่นตอนเช้าที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นเป็นต้น ถ้าเราเก็บแสงพอดีที่ท้องฟ้า ในส่วนของพื้นดินจะมืดมากจนแทบไม่เห็นรายละเอียด ถึงแม้ว่าจะสามารถเอาไฟล์ Raw มาดึงในส่วนมืดขึ้นมาได้ แต่คุณภาพไฟล์ในส่วนมืดจะไม่ดี มี Noise ปนอยู่เยอะ

โดยปกติช่างภาพบางท่านอาจเลือกแนวทางการแก้ไขปญหาที่เกิดขึ้น โดยการใช้วิธีการถ่ายภาพคร่อมแสง แล้วมารวมภาพกันอีกทีเพื่อที่จะได้งานคุณภาพสูง แต่ถึงแม้ว่าเราจะใช้การถ่ายภาพคร่อมมา เพื่อใช้แก้ปัญหา ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 100% โดยปัญหาที่เกิดจากการถ่ายภาพคร่อมจะมีอยู่ปัญหาอยู่ 3 ปัญหา
1. ใช้เวลามากขึ้นในการทำภาพ
2. หากต้องการงานที่คุณภาพดี ต้องใช้ทักษะในการแต่งภาพสูง
3. ภาพบางลักษณะไม่สามารถถ่ายคร่อมเพื่อมาซ้อนกันได้ เช่น ภาพที่มีต้นไม้กำลังเครื่องไหวด้วยแรงลม เป็นต้น

แต่ปัญหาทั้งหมด เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ฟิลเตอร์แผ่น สำหรับลดแสง

ดังนั้นการที่เราเจอสถานการณ์ที่ความเปรียบต่างของแสงในภาพใบเดียวกัน เราควรใช้ฟิลเตอร์เพื่อแก้ปัญหา และเพิ่มสะดวกในการทำงาน เพราะหน้าที่หลัก ของฟิลเตอร์ลดแสงคือ ช่วยบาลานซ์แสงในรูปภาพให้มีความเปรียบต่างที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น เช่น การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า เราก็อาจจะเลือกใช้แผ่น GND 0.9 เพื่อลดแสงสว่างด้านบนของรูปภาพลง 3 Stop ทำให้แสงในส่วนของท้องฟ้าและพื้นดินมีความเปรียบต่างของแสงที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น สามารถถ่ายเก็บข้อมูลทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างได้ในภาพใบเดียว เป็นต้น

ภาพด้านล่าง ถ่ายโดยไม่ใช้ฟิลเตอร์

F/6.3, 1/25 Sec, ISO100

ภาพด้านล่าง ถ่ายโดยใช้ฟิลเตอร์ NiSi Soft GND8 (0.9) 3 Stop

F/6.3, 1/25 Sec, ISO100 + GND Soft 0.9

ภาพด้านล่าง ถ่ายโดยใช้ฟิลเตอร์ NiSi Soft GND8 (0.9) 3 Stop และผ่านการ Process แล้ว

F/6.3, 1/25 Sec, ISO100 + GND Soft 0.9 + PS

จะเห็นได้ว่าหลังจากเราใช้งานฟิลเตอร์แผ่น ภาพที่ได้หลังกล้องเรียกว่าสามารถเก็บส่วนต่างของแสงได้สมบูรณ์ ที่เหลือแค่จะมา process ใน Photoshop ตามที่ชอบกันนะครับ ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นเยอะ เพราะมั่นใจว่าแต่ละทริปที่ออกเดินทาง หลายๆท่านคงจะกดภาพมาไม่ต่ำกว่า 100 ภาพ ดังนั้นการประหยัดเวลาในการทำภาพจะช่วยให้เราสบายขึ้นเยอะครับ

2. ใช้ฟิลเตอร์สร้างเอฟเฟคในรูปภาพ

ในกรณีที่ต้องการสร้าง Movement ให้กับรูปภาพ เช่นการลากสปีดชัตเตอร์นานๆ เพื่อให้เกิดสายน้ำไหล เมฆไหล หรือต้องการให้ทะเลดูฟุ้งๆ แต่ในข้อเท็จจริงนั้นเราไม่สามารถสร้างภาพลักษณะนี้ได้เนื่องจากแสงที่มากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพน้ำตกในช่วงเวลากลางวัน

ถ้าต้องการ Effect น้ำไหลเป็นสายสวยๆ อย่าน้อยต้องลากสปีดชัตเตอร์ยาว 2-3 วินาทีขึ้นไป แต่ถึงแม้ว่าเราจะตั้งค่ารูรับแสงแคบสุดแล้ว ตั้ง ISO ต่ำสุดแล้วก็ยังได้สปีดชัตเตอร์ที่ค่อนข้างเร็วซึ่งไม่สามารถสร้าง Effect สายน้ำไหลได้ เราจึงเลือกใช้ฟิลเตอร์ ND ลดแสงลงอีก 6 หรือ 10 Stop เพื่อที่จะให้แสงเข้ากล้องได้น้อยลงเราจึงสามารถลากสปีดชัตเตอร์ให้นานขึ้นจนกระทั่งได้ Effect ของสายน้ำไหลเป็นต้น

เพื่อนๆอาจจะพอทราบแนวทางหลักๆกันไปแล้วว่า เมื่อไหร่เราจะต้องหยิบฟิลเตอร์ออกมาใช้งานกัน ดังนั้นทางที่ดีสำหรับการถ่ายภาพ Landscape คือการวางแผนการเดินทางที่ดี และช่วงเวลาที่เหมาะสม การศึกษาสถาที่ที่เราจะไปถ่ายเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ เพื่อการสร้างภาพในหัว และมุมที่จะถ่ายก่อนเดินทาง จะยิ่งช่วยให้เราสามารถเตรียมอุปกรณ์ได้ครบก่อนออกเดินทาง

สุดท้ายนี้ความสนุกของการถ่ายภาพ Landscape ไม่ใช่การรีบบันทึกภาพเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการอย่างเดียวแล้วเดินจากไป แต่เป็นการดื่มด่ำกับความสวยงามของธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้า และความสนุกกับการเดินทางพร้อมเพื่อน และการผจญภัยกับการเดินทางไปตามจุดต่างๆในการถ่ายภาพ ทางผู้เขียนขอให้ช่างภาพทุกท่านสนุกกับการเดินทาง และการถ่ายภาพนะครับ

สนใจเรื่องอุปกรณ์ถ่ายภาพ Landscape สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Camera Maker เราเป็นตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพชั้นนำในประเทศไทย โดยเฉพาะอุปกรณ์ถ่ายภาพ Landscape

ติดต่อได้ที่ Line ID : @cameramaker

 

Exit mobile version